วัดเขาวังราชบุรี ตั้งอยู่บนเขาวังห่างจากตัวเมืองราชบุรีประมาณ ๓ กิโลเมตร เขาวังเดิมชื่อว่า “เขาสัตตนาถ” เพราะ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด อาทิ เก้ง กวาง ลิง ฯลฯ ทางราชการได้ประกาศห้ามทำร้ายสัตว์ในเขตดังกล่าว ที่เขาสัตตนาถเดิมมีวัดอยู่วัดหนึ่งอยู่ตรงเชิงเขาด้านทิศตะวันออก แต่ร้างมานาน มีการบันทึกไว้ว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และทรงโปรดฯให้ยกกระบัตรเมืองราชบุรีเป็น ผู้อำนวยการสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทรงยกกองทัพที่ตีกองทัพพม่า และพระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดเขาสัตตนาถ”
ประวัติความเป็นมาของวัดเขาวัง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงโปรดฯให้สร้างพระราชวังขนาดเล็กบนเขานี้ และไม่ปรากฏว่าได้รับพระราชทานนามอย่างใดไว้ ชาวเมืองราชบุรีเรียกกันแต่เพียงว่า “เขาวัง” มาจนถึงทุกวันนี้ เหตุที่สร้างพระราชวังนี้ขึ้นมานั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปประพาสบนยอดเขานี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงดำริว่า เขาสัตตนาถ ประกอบด้วยเขาน้อยใหญ่อยู่ข้างๆ อีกหลายลูก ถ้าได้สร้างพระราชวังและตำหนักเจ้านายขึ้น คงเป็นที่พักตากอากาศได้ดีแห่งหนึ่ง จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ดำเนินการจัดสร้างพระราชวังขึ้นบนยอดเขา และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้มอบหมายให้ พระยาเพชรบุรี ซึ่งเคยเป็นนายงานสร้างพระนครคีรีที่จังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ เป็นแม่กองสร้างพระราชวัง บนเขาสัตตนาถ
ในการสร้างพระราชวังครั้งนี้ ได้ทำทางขึ้นเป็นสองทางอ้อมขึ้นไปรอบเขา รถยนต์สามารถขึ้นไปได้ทางหนึ่ง และมีทางตรงเป็นทางเดินเท้าต่อขึ้นไปจนถึงหน้าท้องพระโรงอีกทางหนึ่ง ที่เชิงเขาด้านตะวันออกมีโรงทหารรักษาพระองค์ ๑ โรง ด้านพลับพลาเชิงเขามีโรงรถม้า โรงม้า ตรงทางสองแพร่งมีกระโจมสำหรับทหารยาม ต่อขึ้นไปมีโรงทหารมหาดเล็กสร้างเป็นแถวยาวหลังหนึ่ง เหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งมีทีมดาบตำรวจอยู่ ตรงหน้าท้องพระโรง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ถัดมาเป็นท้องพระโรง ต่อจากท้องพระโรงเข้าไปเป็นพระที่นั่ง ต่อไปข้างหลังเป็นห้องเสวยและเป็นที่สำหรับพวกโขนอยู่บนเขาสัตตนาถมีวัดอยู่วัดหนึ่ง แต่เป็นวัดร้างมานานแล้ว ในวัดนี้มีพระเจดีย์องค์หนึ่งกับวิหารพระนอนย่อมๆ ไม่ใหญ่โตนักหลังหนึ่ง โบสถ์กับศาลาอีกอย่างละหลังอยู่ตรงเชิงเขาด้านตะวันออก
วังโบราณในสมัยรัชกาลที่ ๕
วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ ยกกระบัตรเมืองราชบุรีเป็นผู้อำนวยการสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่พระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพมาตีกองทัพพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ ณ ตำบลเขาช่องพราน ตำบลเขาชะงุ้ม ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม โดยยกทัพผ่านมาทางเมืองราชบุรี แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ หมู่บ้านโคกกระต่าย ตำบลธรรมเสน ยกทัพเข้าล้อมค่ายพม่าทางเขาช่องพราน คอยตัดกองลำเลียงเสบียงอาหาร ช้าง ม้า ของพม่า จนพม่าอดยาก เกิดการระส่ำระสาย จึงยกกองทัพเข้าตีจนพม่าแตกพ่ายและจับเชลยพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากมาย ทำให้พม่า เข็ดหลาบไม่กล้าที่จะยกทัพมารุกรานประเทศไทยอีก พระองค์โปรดเกล้าพระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดเขาสัตตนาถาสัตตนาถ”
น่าเสียดายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ เมื่อคราวเสด็จกลับจากประพาสไทรโยคและรับราชทูตโปรตุเกส แล้วก็ไม่ได้เสด็จประทับอีกตลอดรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ก็ไม่ทรงโปรดและมิได้เสด็จไปประพาสเลย พระราชวังนี้จึงถูกทิ้งร้างอยู่ตลอดรัชกาล
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาล ๗ ตัวพระที่นั่งต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถ้าจะคงรักษาไว้เป็นพระราชวังต่อไปอีก จะทำให้สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ในการซ่อมแซมรักษามาก ทั้งมิได้ตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จไปประพาสอีกด้วย พระราชวังนี้จึงถูกทิ้งให้รกร้างเป็นวังร้าง มิได้ทำการซ่อมแซมใดๆ เลย ได้มีต้นไม้นานาชนิดขึ้นปกคลุมจนกลายสภาพเป็นป่ารกชัฏเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
มูลเหตุการณ์สร้างวัดเขาวัง
สภาพของเขาวังได้กลายเป็นป่ารกชัฏ มีต้นไม้และเถาวัลย์น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมและเป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิดเป็นวังร้างตลอดมา เป็นเวลา ๔๐ ปีเศษ คงเหลือแต่ซากท้องพระโรงและพระตำหนักที่บรรทมมีลักษณะปรักหักพังมาก แต่ยังมีหลังคาพอที่จะเป็นที่อาศัยได้บ้าง ส่วนบานประตู หน้าต่าง และพื้นไม่มีเพราะถูกรื้อถอนไปหมด
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗ พระครูพรหมสมาจารและพระครูภาวนานิเทศก์ ได้เดินทางปฏิบัติธุดงค์วัตรมาถึง ณ เขาวังแห่งนี้ และเห็นว่าเป็นสถานที่อันสงัด เหมาะเป็นที่พำนักบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พักแรมเพื่อปฏิบัติธุดงค์วัตร บำเพ็ญสมณธรรมเป็นการชั่วคราว และได้ถือเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมถาวรนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นต้นมา
เมื่อท่านทั้งสองได้พบพระราชวังชำรุดทรุดโทรมเพราะภัยธรรมชาติ ทั้งพระตำหนักที่บรรทมและท้องพระโรงเก่า ก็อยู่ในสภาพที่ปรักหักพังน่าสังเวชสลดใจ จึงคิดที่จะบูรณะขึ้นใหม่ ในระหว่างนั้น ท่านได้พำนักอาศัยบำเพ็ญสมถะวิปัสสนาอยู่ที่โคนต้นไม้ใหญ่ ได้มีชาวบ้านในละแวกนั้นศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๑ พระครูพรหมสมาจารได้มอบหมายให้หลวงสวรรค์เทพกิจ คหบดีของเมืองราชบุรี กับพระยาอรรถกวี สุนทร ข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี ทำการยื่นเรื่องขอพระราชทานพระราชวังกับกับภูเขาสัตตนาถให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เหมือนดังเดิม โดยผ่านทางกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยได้ปรึกษากับกระทรวงธรรมการ ซึ่งกระทรวงธรรมการได้แจ้งว่า ทางฝ่ายคณะสงฆ์พอใจรับ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชอุทิศให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๗๒ และได้ลงประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๖ หน้า ๒๑๕ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๒
ภายหลังจากได้รับพระราชทานพระราชวังและภูเขาสัตตนาถแล้ว พระครูพรหมสมาจารจึงได้ทำการรื้อพระราชวังที่ประทับเฉพาะส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม แล้วต่อเติมกำแพงผนังโดยเสริมคอนกรีตจากกำแพงผนังพระราชวังเดิม สร้างเป็นพระอุโบสถ โดยเทคอนกรีตทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องเคลือบอย่างดี ติดช่อฟ้า ใบระกา ลงรักปิดทอง ติดกระจก โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๓ และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “เขาวัง”
วัดเขาวัง เป็นวัดที่ได้พัฒนาตัวเอง ด้วยการก่อร่างสร้างตัวด้วยทุนทรัพย์ของพุทธศาสนิกชน ผู้มีความเลื่อมใส ศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา กอปรด้วยความสามารถของท่านเจ้าอาวาสทั้ง ๒ ท่าน คือ ท่านพระครูพรหมสมาจาร ปฐมเจ้าอาวาส และท่านพระครูภาวนานิเทศก์ เจ้าอาวาสวัดรูปที่ ๒ ได้พัฒนาจากวัดป่าที่จากเดิมไม่มีถาวรวัตถุมากนัก และปราศจากผู้คนเข้าไปอยู่อาศัย มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมมากมาย ให้กลับกลายมาเป็นสถานที่รื่นรมย์ เป็นที่เหมาะสมสำหรับประพฤติบำเพ็ญธรรมของเหล่าภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของนักทัศนาจรและผู้ปฏิบัติธรรม ผู้รักความสงบเข้ามาหาความสุขทางใจ